ครม.กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หักลดหย่อนภาษีได้ 100%

วันที่ 15 ตุลาคม 2014
  5,129 views

ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในประเทศ โดยกำหนดให้สามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่าย ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพื่อการอบรมสัมมนามาหักลดหย่อนภาษีได้ 100%

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นักท่องเที่ยว นำเงินที่จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้ว ไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยทั้งหมดมีผลบังคับใช้ถึง 31 ธ.ค. 58 นี้ เพื่อส่งเสริม และฟื้นฟูการท่องเที่ยว และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง แม้ว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้ 1,000 ล้านบาท แต่ช่วยกระตุ้นให้เกิดผลดีต่อธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ 3,000 ล้านบาท

2014-10-15-1

ถ้าจะให้เห็นภาพได้จากใบเสร็จที่ได้รับมาจำนวน 15,000 บาท

ถ้าฐานภาษี 5%       ได้เงินภาษีกลับมา     750 บาท
ถ้าฐานภาษี 10%     ได้เงินภาษีกลับมา     1,500 บาท
ถ้าฐานภาษี 15%     ได้เงินภาษีกลับมา     2,250 บาท
ถ้าฐานภาษี 20%    ได้เงินภาษีกลับมา     3,000 บาท
ถ้าฐานภาษี 25%    ได้เงินภาษีกลับมา     3,750 บาท
ถ้าฐานภาษี 30%    ได้เงินภาษีกลับมา     4,500 บาท

ด้านนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า มาตรการครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้ โดยเฉพาะการวางแผนท่องเที่ยว ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 31ธ.ค.57- 4ม.ค.58 ที่ขณะนี้ เริ่มมีคนไทยวางแผนไปท่องเที่ยวต่างประเทศบ้างแล้ว จากนี้อาจเปลี่ยนแผน แล้วเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแทน เพราะนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้

อย่างไรก็ดี จากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเกิดการรับรู้ให้มากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ในกลุ่มคนไทยที่นิยมท่องเที่ยวเอง และ กับกรุ๊ปทัวร์ ส่วน ด้านการประชุมสัมมนาของราชาการ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วยนั้น สำนักงานการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ต้องเร่งออกมาทำการตลาดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ การประชาสัมพันธ์ในเมืองดีไมซ์ ที่อยู่ตามภูมิภาคหลัก และเป็นหัวเมืองทางการท่องเที่ยว อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ เป็นต้น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สทท. ได้เสนอให้นำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศมาหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และสร้างรายได้ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของปี 58 คือ มีรายได้ 800,000 ล้านบาท และ มีจำนวนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 148 ล้านคนต่อครั้ง โดยที่ผ่านมามาตรการนี้เคยได้รับการอนุมัติสมัยรัฐบาล นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว แต่ได้รับการอนุมัติแค่เพียง 3 เดือน และลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท ซึ่งยังไม่เห็นผลตอบรับจากประชาชนอย่างชัดเจนมากนัก เพราะมีเวลาน้อยเกินไป

ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวนี้ จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ภาษีไม่เกิน 2,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้รับกลับคืนมา คือ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการบริโภคภายในประเทศที่สูงขึ้น จากการเดินทางท่องเที่ยวและอบรมสัมมนา

สรุปคือ เริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปัจจุบันจนเดือนธันวาคมนี้ เพื่อลดหย่อนในปีภาษี 2558 และยังใช้ได้ต่อเนื่องใน เดือนมกราคมถึงธันวาคมปีหน้า เพื่อลดหย่อนในปีภาษี 2559  นอกจากนี้ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงินที่มีผลใช้ได้คือ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นหลังมีการประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งก็จะเป็นราวๆ เดือนตุลาคมนี้ เป็นต้นไป

หมายเหตุ  “ภาษีท่องเที่ยว”  คือภาษีที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวกันมากขึ้น ใช้จ่ายเงินกันมากขึ้น เงินจะได้หมุนเวียนไปสู่ส่วนๆต่างในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ทีนี้เมื่อจ่ายเงินกันมากขึ้นก็หมายความว่ารัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น มีเงินไปพัฒนาประเทศต่อได้
ที่มา :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์