ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ถ้าต้องการจะให้ร้านค้าออกใบกำกับภาษีจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีลงในใบกำกับภาษีด้วย ซึ่งเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 196 เกี่ยวกับรูปแบบใบกำกับภาษีแบบใหม่ โดยจะผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2557 แต่ได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2558 โดยสาระสำคัญในใบกำกับภาษีรูปแบบใหม่นี้จะต้องมีระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อหรือผู้รับบริการลงในใบกำกับภาษีด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีข้อดีในแง่ของการตรวจสอบ แต่ไม่สะดวกกรณีที่บุคคลธรรมดาจะซื้อสินค้าหรือบริการจะต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ซึ่งเป็นเลขเดียวกับบัตรประชาชน) ทางกรมสรรพากรจึงได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 199 ในข้อ 7 มีข้อความดังนี้
ข้อ 7 ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
โดยเนื้อหาที่สำคัญในประกาศฉบับนี้ คือ ให้ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ดังนั้นกรณีที่ไปซื้อสินค้าและต้องการให้ออกใบกำกับภาษีในนามของบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งประจำตัวผู้เสียภาษีอีกต่อไป
(ดูบทความเพิ่มเติม คุณคือใครในมุมมองของสรรพากร )
เนื่องจากบุคคลธรรมดาไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะไม่สามารถนำภาษีซื้อ ภาษีขาย ไปหักลดหย่อนใดๆ ได้ จะใช้ได้แต่เพียงเพื่อเป็นหลักฐานในการจ่ายชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนมีสิทธิในการนำใบกำกับภาษีให้เครดิตภาษีได้ สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนก่อนที่จะรับใบกำกับภาษี จะต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และตรวจสอบให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถนำไปเครดิตภาษีได้
สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดประกาศอธิบดีได้ตามลิงค์