แต่เดิมผู้ที่ซื้อบ้าน “เงินผ่อน” สามารถนำดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมมาหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ผู้ที่ซื้อบ้าน “เงินสด” ไม่สามารถใช้สิทธิใด ๆ ในการลดหย่อนภาษี ทราบหรือไม่ว่าถ้าคุณซื้อบ้านเป็น “เงินสด” มีสิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงปีละ 100,000 บาท เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน
โดยกรมสรรพากรได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 528) พ.ศ. 2554 และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 213) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไป เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน
ในกรณีที่จะใช้สิทธิลดหย่อนการซื้อบ้านหลังแรก ผู้ใช้สิทธิจะต้องไม่เคยใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจาก “ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือ สร้างอาคารอยู่อาศัย” มาก่อน และเมื่อเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนแล้วจะต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ถ้าหยุดในปีใดถือว่าสละสิทธิ์
การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และวิธีคำนวณสิทธิยกเว้นภาษีฯ
ยกเว้นภาษีครั้งแรก ภายใน 5 ปีภาษี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ฯ และต้องใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปีภาษี ต่อเนื่องกันโดยให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี ดังนี้
สิทธิยกเว้นภาษีต่อปีภาษี = ( ค่าซื้อฯ ไม่เกิน 5,000,000 x 10% ) / 5 ปี
ตัวอย่าง
นาย ก. ซื้อบ้านหลังแรก 15 ธันวาคม 2554 และโอนกรรมสิทธิ์ 15 มกราคม 2555 ราคา 5,000,000 บาท ดังนั้น นาย ก. สามารถเริ่มต้นใช้สิทธิยกเว้นฯครั้งแรกได้ภายใน 5 ปีภาษี โดยเริ่ม ตั้งแต่ปีภาษี 2555 – 2559 เป็นจำนวนเท่ากับ 100,000 บาทต่อปี เท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี เป็นเวลา 5 ปีภาษีต่อเนื่องกัน
ถ้าคุณซื้อบ้านเป็น “เงินสด” ตั้งแต่ วันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และยังไม่เคยใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกมาก่อนก็สามารถใช้สิทธินี้เพื่อลดหย่อนภาษีได้