ผู้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดมีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษี ตามกฏหมายได้ให้สิทธิของผู้มีหน้าที่เสียภาษีโดยสรุปดังนี้
1. การผ่อนชำระภาษี
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามแบบ ภ.ง.ด. 90 ภ.ง.ด. 91 ที่มีจำนวนเกินกว่า 3,000 บาท สามารถแบ่งจ่ายงวดละเท่าๆกัน ไม่เกิน 3 งวด โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม
- ภาษีอากรที่ค้างชำระ โดยยื่นคำร้องขอผ่อนภายใต้หลักเกณฑ์การผ่อนชำระของกรมสรรพากร
2. การยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษี
กรณีที่ผู้เสียภาษีถูกประเมินภาษีอากร หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือ (แบบ ภ.ส.6) ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน และหากได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วยังไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา ผู้เสียภาษีไม่มีสิทธิอุทธรณ์ใดๆ และต้องชำระภาษี พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมินให้ครบถ้วน
3. ขอทุเลาการชำระภาษีอากรโดยจัดให้มีหลักประกันการชำระหนี้ภาษีอากรค้าง
การใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการเสียภาษีอากร ผู้เสียภาษีที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ชำระภาษี มีหน้าที่ต้องชำระภาษ๊ตามการประเมินนั้น ภายในกำหนดเวลาที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือแจ้งการประเมิน อย่างไรก็ตาม หากต้องการรอคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษา ผู้เสียภาษีมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการชำระภาษี โดยจัดให้มีหลักประกันการชำระหนี้ภาษีอากรด้วยหลักทรัพย์ต่างๆ ภายใต้หลักเกณฑ์ตามระเบียบของกรมสรรพากร
4. ของดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีอากร
ผู้เสียภาษีที่มีหน้าที่ยื่นแบบฯ และชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย หากมิได้ยื่นแบบฯ หรือชำระภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายนอกเหนือจากเงินภาษีที่ต้องชำระอีกด้วย อย่างไรก็ดี หากการกระทำความผิดมีเหตุอันควรผ่อนผัน ผู้เสียภาษีอาจมีคำร้องเป็นหนังสือของดหรือลดเบี้ยปรับและอาจได้รับการพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ สำหรับเงินเพิ่มไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าพนักงานฯงดหรือลดให้ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษี และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายแล้ว เงินเพิ่มจะลดลงมาเหลือเพียงกึ่งหนึ่ง
5. ขอคัดเอกสารหรือขอสำเนาเอกสาร
ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอคัดเอกสารหรือขอสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีของตนเองได้ เช่น ขอคัดสำเนาแบบแสดงรายการภาษีของตนเอง หรือใบเสร็จรับเงินค่าภาษีแต่ละประเภทที่เป็นของตนเอง เป็นต้น
อ้างอิง : http://www.rd.go.th/publish/813.0.html