เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ตามมาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจต่อรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. ปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น และลดอัตราสูงสุดจาก 37% เป็น 35% เพื่อกระจายภาระภาษีให้เท่าเทียมกันมากขึ้นดังนี้
ทั้งนี้ สำหรับเงินได้สุทธิตั้งแต่ 0-300,000 บาท ซึ่งกำหนดอัตราภาษีไว้ 5% กระทรวงการคลังจะตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกต่อไป โดยการปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้บังคับสำหรับเงินได้ประจำปีภาษี 2556 เป็นต้นไป
2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลดังนี้
- กำหนดคำนิยามของ “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” ให้หมายความว่า บุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงกระทำการที่มีเงินได้พึงประเมินร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
- กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเสียภาษีจากเงินได้สุทธิในอัตราร้อยละ 20 โดยให้หักค่าใช้จ่าย ตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น
- กำหนดให้คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 โดยไม่ให้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลสามารถเลือกเสียภาษีสำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาหรือที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแยกต่างหากจากเงินได้อื่น โดยให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้าสำหรับบุคคลธรรมดา แล้วไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีปลายปีอีก
ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนี้จะใช้บังคับกับเงินได้ประจำปีภาษีถัดจากปีภาษีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับต่อไป
การปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี รวมทั้งทำให้ระบบภาษีมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราภาษี เงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็นการป้องกันการใช้ช่องว่างของกฎหมายในการกระจายฐานภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
แม้ว่ามาตรการนี้มีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่จะทำให้รายได้สุทธิของผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น อันจะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและฐานภาษีในระยะยาว รวมทั้งทำให้อัตราภาษีของไทยเป็นที่จูงใจและแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น รองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน